มิเตอร์ไฟฟ้ากับน่ารู้ เลือกอย่างไรให้เหมาะกับบ้านเรา
กรกฎาคม 11, 2024มิเตอร์ไฟฟ้ากับน่ารู้ เลือกอย่างไรให้เหมาะกับบ้านเรา
มิเตอร์ไฟฟ้า (Electricity meter) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับวัดปริมาณการใช้งานพลังงานไฟฟ้าของผู้ใช้ มิเตอร์นี้มักถูกติดตั้งที่บ้านพักอาศัย, อาคารพาณิชย์, หรือสถานที่ต่างๆ เพื่อบันทึกและวัดจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้งานได้ เพื่อที่จะคำนวณค่าไฟฟ้าที่ต้องชำระในแต่ละเดือนหรือระยะเวลาที่กำหนด
ประเภทของมิเตอร์ไฟฟ้า
มิเตอร์ไฟฟ้า มีหลายประเภทด้วยกันดังต่อไปนี้
- มิเตอร์ไฟสำหรับบ้านอยู่อาศัย
- มิเตอร์ไฟสำหรับกิจการขนาดเล็ก
- มิเตอร์ไฟสำหรับกิจการขนาดกลาง
- มิเตอร์ไฟสำหรับกิจการขนาดใหญ่
- มิเตอร์ไฟสำหรับกิจการเฉพาะอย่าง
- มิเตอร์ไฟสำหรับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร
- มิเตอร์ไฟสำหรับกิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร
- มิเตอร์ไฟสำหรับผู้ใช้ไฟชั่วคราว
เลือกขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าให้เหมาะกับบ้าน
การเลือกใช้มิเตอร์ไฟฟ้าแต่ละประเภทจะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และความต้องการในการวัดการใช้พลังงานไฟฟ้าของแต่ละสถานที่หรือโครงการที่ใช้งานนั้น ๆ
โดยสามารถคำนวณเบื้องต้นได้ด้วยตัวเองว่าบ้านของเราเหมาะกับขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าเท่าไหร่ โดยนำกำลังไฟฟ้าอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดนั้น (วัตต์) ซึ่งสามารถดูได้จากฉลากบนเครื่องใช้ไฟฟ้า หารด้วยความต่างศักย์ (โวลต์) และคูณด้วยจำนวนอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดนั้น และนำกระไฟฟ้าทั้งหมดมาบวกรวมกัน และคูณด้วย 1.25 (ปริมาณกระแสไฟฟ้าที่อาจจะใช้มากขึ้นในอนาคต) ยกตัวอย่างเช่น
- พัดลมตั้งพื้น 75 วัตต์ จำนวน 2 ตัว คิดเป็นกระแสไฟฟ้า (75 ÷ 220) x 2 = 0.68 แอมแปร์
- หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ 36 วัตต์ จำนวน 6 หลอด คิดเป็นกระแสไฟฟ้า (36 ÷ 220) x 6 = 0.98 แอมแปร์
- เครื่องปรับอากาศ 1,000 วัตต์ จำนวน 1 เครื่อง คิดเป็นกระแสไฟฟ้า 1,000 ÷ 220 = 4.54 แอมแปร์
- หม้อหุงข้าว 500 วัตต์ จำนวน 1 เครื่อง คิดเป็นกระแสไฟฟ้า 500 ÷ 220 = 2.27 แอมแปร์
- เตารีด 430 วัตต์ จำนวน 1 เครื่อง คิดเป็นกระแสไฟฟ้า 430 ÷ 220 = 1.95 แอมแปร์
- โทรทัศน์ 43 วัตต์ จำนวน 1 เครื่อง คิดเป็นกระแสไฟฟ้า 43 ÷ 220 = 0.2 แอมแปร์
- ตู้เย็น 70 วัตต์ จำนวน 1 เครื่อง คิดเป็นกระแสไฟฟ้า 70 ÷ 220 = 0.32 แอมแปร์
กระแสไฟฟ้าจากเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดรวมกันจะเท่ากับ 10.94 แอมป์ เมื่อนำมาคูณกับ 1.25 จะได้ประมาณ 13.68 แอมแปร์ ถือว่ายังสามารถใช้ขนาดเมิเตอร์ 5(15) ได้เนื่องจากยังไม่เกิน 15 แอมแปร์ และปกติเราจะไม่ได้ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าพร้อม ๆ กันอยู่แล้ว แต่หากเผื่อในอนาคตจะพบว่า มิเตอร์ไฟฟ้าอาจมีขนาดไม่เพียงพอ โดยเฉพาะหากต้องการติดเครื่องปรับอากาศเพิ่มอีก 1 ตัว ต้องเปลี่ยนมิเตอร์ให้เป็นขนาดที่ใหญ่ขึ้นด้วย เพื่อความปลอดภัย
คุณสมบัติของผู้ที่จะขอใช้ไฟฟ้า
ผู้ที่จะขอใช้ไฟฟ้ามีดังนี้
- เจ้าของที่ดิน หรือเจ้าของสถานที่ใช้ไฟฟ้า
- ผู้ขอใช้ไฟฟ้ามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่ใช้ไฟฟ้า
- ผู้เช่า หรือผู้เช่าซื้อสถานที่ใช้ไฟฟ้า
- ผู้ประกอบการในสถานที่ใช้ไฟฟ้า
เอกสารที่ผู้ขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าต้องนำมาแสดง
ผู้ขอใช้ไฟฟ้าเตรียมเอกสารดังนี้ เพื่อใช้ยื่นประกอบคำร้องขอใช้ไฟฟ้ากับการไฟฟ้า
หลักฐานการขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าใหม่
- สำเนาทะเบียนบ้านที่ขอติดตั้งการใช้ไฟฟ้า และสำเนาทะเบียนบ้านที่อยู่ปัจจุบัน
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
- สัญญาซื้อขาย (กรณีซื้อขายบ้าน), สัญญาเช่า (กรณีเช่าบ้าน)
- หนังสือมอบอำนาจพร้อมติดอากรแสตมป์ 10 บาท (กรณีเจ้าของบ้านไม่มาดำเนินการ)
- สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ
- สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านผู้ให้เช่า
- ใบยินยอมผ่านที่หรือใบยินยอมในกรณีต่าง ๆ (กรณีผ่านที่ดินผู้อื่น), สำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านขอผู้ยินยอม
- ใบเสร็จค่าไฟฟ้าข้างเคียงของเสาที่จะติดตั้งมิเตอร์ (ถ้ามี)
ขั้นตอนการขอใช้ไฟฟ้า
- หลังจากได้รับคำร้องขอใช้ไฟฟ้า พร้อมเอกสารประกอบครบถ้วนแล้ว เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าจะเข้าไปตรวจสอบการเดินสายไฟในอาคาร หากยังไม่เดินสายไฟฟ้าให้เดินสายให้เรียบร้อยแล้วแจ้งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ
- เมื่อตรวจสอบการเดินสายไฟฟ้าแล้วพบว่ามีการเดินสายไฟที่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ผู้ขอใช้ไฟฟ้าชำระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ แต่ถ้าการเดินสายไฟไม่ถูกต้อง ไม่ปลอดภัยก็จะแจ้งให้ดำเนินการแก้ไข และตรวจสอบอีกครั้ง โดยค่าธรรมเนียมนั้นการไฟฟ้าจะกำหนดไว้ตามประเภทและขนาดของมิเตอร์ที่ขอติดตั้ง
- ผู้ขอใช้ไฟฟ้าชำระค่าธรรมเนียมและรับใบเสร็จไว้เป็นหลักฐาน
สถานที่ติดต่อเพื่อขอใช้ไฟฟ้า
ผู้ขอใช้ไฟฟ้าสามารถติดต่อและยื่นคำร้องได้ที่สำนักงานการไฟฟ้าทุกแห่ง
สอบถามการไฟฟ้า
กรุงเทพฯ สมุทรปราการ และนนทบุรี ติดต่อได้ที่ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) โทร. 1130 หรือติดต่อสอบถามได้จากเว็บไซต์การไฟฟ้านครหลวง
ต่างจังหวัด ติดต่อได้ที่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โทร. 1129 หรือติดต่อสอบถามได้จากเว็บไซต์การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค